การผลิตและการบริโภคสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์

1

การผลิตและการบริโภคสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์

การผลิต หมายถึง การแปรสภาพทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์เป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์
ปัจจัยการผลิต
สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ผู้ผลิตนำมาผ่านกระบวนการผลิตนำมาผ่านกระบวนการผลิตจนเกิดเป็นสินค้าและบริการ เรียกว่า ปัจจัยการผลิต ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1) ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แม่น้ำ แร่ธาตุ น้ำมัน ที่ดิน
2) ทุน เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตสินค้าและบริการ ทุนมี ๒ ประเภท คือ
วัตถุทุน คือ เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อทุ่นแรงในการผลิตสินค้าและบริการ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต โรงงาน
เงินทุน คือ จำนวนเงินที่นำไปซื้อหรือทำให้ได้มาซึ่งวัตถุทุนประเภทต่าง ๆ หรือจ่ายเป็นค่าจ้าง
3) แรงงาน กำลังกายและกำลังสติปัญญาของมนุษย์ในการผลิต เช่น แรงงานทางสมองของมนุษย์ทำให้คิดประดิษฐ์เครื่องจักร เครื่องทุ่นต่าง ๆ ที่จะนำมาผลิตสินค้าและบริการ
4) การประกอบการ การจัดตั้งองค์กรการผลิต เพื่อดำเนินการผลิตโดยนำทรัพยากรธรรมชาติ ทุน และแรงงาน มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ

ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและการบริการ
การที่ทรัพากรธรรมชาติมีอยู่จำกัดนั้น ทำให้ไม่สามารถแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาตอบสนองความต้องการมนุษย์ได้ครบถ้วน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกใช้และจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการผลิตและการบริการซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังนี้
1) ผลิตอะไร ควรผลิตสินค้าหรือบริการประเภทใด จึงจะตรงกับความต้องการของคนในสังคมมากที่สุด
2) ผลิตอย่างไร ควรหาวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อลดต้นทุนและสามารถผลิตสินค้าและบริกการได้มากที่สุด
3) ผลิตเพื่อใคร ควรคำนึงว่าใครคือกลุ่มผู้บริโภคสินค้าและบริการ และควรจัดแบ่งสินค้าและบริการอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค

การบริโภค
การบริโภค หมายถึง การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง
การพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการ มีหลักดังนี้
๑) หลักความจำเป็น การบริโภคต้องคำนึงถึงว่า สิ่งใดมีความจำเป็นกับชีวิตเรามากที่สุด โดยเรียงลำดับก่อนหลัง
๒) หลักความประหยัด ให้ตรวจสอบปริมาณและราคาว่า มีความยุติธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเดียวกัน
๓) หลักการมีประโยชน์ คำนึงว่าสินค้าใดมีประโยชน์ต่อเรามากที่สุด

     การใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภค
1. แรงจูงใจในการใช้ทรัพยากร
ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตัดสินใจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1) การเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้ความต้องการด้านปัจจัยสี่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
2) การจัดสรรทรัพยากร เป็นการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงว่า ควรผลิตมากน้อยเพียงใด และใครคือผู้บริโภค
3) การกระจายทรัพยากร ผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องตัดสินใจว่า จะกระจายทรัพยากรอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการกระจายจากแหล่งที่ทรัพยากรมากไปยังแหล่งที่มีทรัพยากรน้อย หรือกระจายจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ
2. การใช้ทรัพยากรในจังหวัดและภูมมิภาค
การที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคตัดสินใจใช้ทรัพยากรในจังหวัดและภูมิภาคของตนเองเนื่องจาก
ผู้ผลิต ได้วัตถุดิบที่มีอยู่ในจังหวัด ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการขนส่ง กำหนดราคาสินค้าให้ต่ำลงได้ เพราะผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ ได้แรงงานในท้องถิ่นที่มีความรู้ความชำนาญในพื้นที่
ผู้บริโภค บริโภคสินค้าที่มีราคาถูก เพราะผู้ผลิตใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในจังหวัด มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัด เกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดของตนที่สามารถผลิตสินค้าออกจำหน่ายได้

การใช้เทคโนโลยีและการแข่งขันที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
1. การใช้เทคโนโลยี หมายถึง การใช้วิธีการใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตสินค้าและบริการ
การใช้เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการไถ คราด หว่าน เก็บเกี่ยว หรือการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต เช่น ใช้ฮอร์โมนเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงขึ้นและปริมาณเพิ่มขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยมีราคาต่ำลง
การใช้เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เช่น การทอผ้า ซึ่งแต่เดิมต้องใช้แรงงานคนและเวลามากในการผลิต เมื่อนำเครื่องจักรมาใช้ จึงผลิตสินค้าได้มากขึ้นเร็วขึ้น คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง ผู้บริโภคจึงตัดสินใจเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น
2. การแข่งขันในการผลิต หมายถึง การทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าต่ำลง แต่ยังคงคุณภาพไว้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับชองเดิม
นอกจากนี้ผู้ผลิตพยายามแข่งขันกันเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุก ๆ ด้าน เช่น การจัดหาสินค้าที่แปลกใหม่กว่าเดิม มีประโยชน์ใช้สอยกว่าเดิม มีบริการที่แปลกใหม่ เช่น บริการส่งของให้ลูกค้าที่บ้าน เป็นต้น

 

This entry was posted in เรื่องการ Shopping and tagged , , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.