การศึกษาในระดับอุดมศึกษาถือว่าเป็นการศึกษาในระดับที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการศึกษาที่เตรียมบุคคลเข้าสู่อาชีพ โดยเฉพาะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกมาจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะตามที่เจ้าของสถานที่ประกอบการและสังคมยอมรับ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้นิสิตนักศึกษาของตนมีคุณภาพ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพของอุดมศึกษาไทยมีทั้งจุดเด่นและจุดอ่อนใน หลายประการด้วยกัน จุดเด่นที่สถาบันอุดมศึกษาควรรักษาไว้เป็นแบบอย่าง ประกอบด้วยการกระจายอำนาจที่มากขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา สิ่งนี้สามารถมีส่วนช่วยเหลือในการเสริมประสิทธิภาพต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ที่สำเร็จการศึกษาออกมา รวมถึงในปัจจุบันนั้น สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น สามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนได้ถึงร้อยละ 12.5 ในวัยเรียน ซึ่งใกล้เคียงกับร้อยละ 15 ซึ่งถือว่าเป็นระดับร้อยละที่อุดมศึกษาเข้าถึงสู่มวลชน (Mass Education)
แม้ว่าการพัฒนาคุณภาพของการอุดมศึกษาไทยมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันก็ยังพบว่าคุณภาพอุดมศึกษายังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรและพบจุด อ่อนในหลายประเด็น ประกอบด้วย ปัญหานโยบายของรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งยังไม่มีความแน่นอนและเกิด ความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรเอกชนและผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา หลักสูตรและการเรียนการสอนมีความล้าสมัย ไม่เป็นสากลและไม่เกิดบูรณาการ ไม่มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก เกิดการขาดแคลนคณาจารย์ที่มีคุณภาพเนื่องจากวิกฤติศรัทธาต่ออาชีพอาจารย์ตกต่ำซึ่งไม่สามารถจูงใจคนเข้ามาเป็นอาจารย์ได้ รวมถึงการลงทุนของรัฐบาลในเรื่องการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ยังถือว่า อยู่ในระดับที่ต่ำมาก รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มเทการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่สถาบันอุดม ศึกษาอย่างจริงจัง
ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของการอุดมศึกษาที่สำคัญ สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรให้ตรงกับสภาพความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆซึ่งกันและกัน สถาบันการศึกษาต้องมุ่งจัดการศึกษาเฉพาะทางที่เป็นการลงลึกเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ อันเป็นการพัฒนาการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพโดยสร้างความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆให้ สามารถแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำอื่นๆทั่วโลกได้ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้าง รายได้เข้าสู่สถาบันด้วยตนเอง พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่นการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกโดยอาจเป็นการ เปิดหลักสูตรที่ทำการเรียนการสอนร่วมกันเพื่อนำความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรต้น แบบที่มีคุณภาพจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศและได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆมากขึ้น สำหรับในเรื่องของการ บริหารจัดการแล้ว สถาบันอุดมศึกษาควรลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ ควรเปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ควรเน้นการกระจายอำนาจในการดำเนินงาน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สถาบันอุดมศึกษามีความคล่องตัวสูงและมีโอกาสเจริญเติบโต ได้รวดเร็วกว่าสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆที่ยึดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางเท่านั้น นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันปรับปรุงเปลี่ยน แปลงแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของอุดมศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ