ก่อนอื่นเราต้องตระหนักเสียก่อนว่าเด็กๆ ในประเทศไทยมีสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนี้ รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องทำเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการพัฒนา คุ้มครอง ตลอดจนมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใดก็ตาม สิทธิขั้นพื้นฐานที่ปรากฏในอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเกิด สิทธิที่จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพและได้รับอาหารที่ถูกหลักโภชนาการอย่างเพียงพอ สิทธิที่จะได้รับการศึกษาอันมีคุณภาพและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้งและการหาประโยชน์จากเด็ก
จากการที่ได้รับหน้าที่ทูตยูนิเซฟตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ทำให้ผมมีความคุ้นเคยกับเรื่องสิทธิเด็กและการดำเนินงานด้านนี้ในประเทศไทยอยู่บ้าง ขณะที่ประเทศไทยอาจภูมิใจที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องสิทธิเด็กมากมาย แต่ผมต้องขอบอกว่าเรายังมีงานที่ต้องทำอีกมากประเทศไทยโชคดีที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงติดต่อกันมา นับสิบปี ซึ่งช่วยให้เด็กๆ และครอบครัวหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ในขณะเดียวกัน ก็นำพาเด็กๆ และครอบครัวอีกหลายล้านขึ้นมาเป็นประชาชน ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เวลานี้เรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นที่อิจฉาของประเทศเพื่อนบ้าน และเด็กๆ ส่วนใหญ่ในประเทศก็ได้รับการศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาเป็นอย่างน้อยและยังได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพียงใด แต่ประโยชน์ทั้งหลายไม่ได้ส่งผลไปยังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ยังมีเด็กอีกมากมายที่ยังถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเรามองลึกลงไปกว่าข้อมูลระดับชาติ กล่าวคือมองลงไปจนถึงระดับภูมิภาคและจังหวัดบางจังหวัดรวมถึงกลุ่มประชากรบางกลุ่มตัวอย่างเช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งมีประชากรเด็กเกือบหนึ่งในสี่ของประเทศนั้น ประชากรร้อยละสิบแปดดำเนินชีวิตอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งผลกระทบของมันสะท้อนอย่างชัดเจนด้วยอัตราการขาดสารอาหารที่สูงกว่าภาคกลางถึงเกือบหนึ่งในสามเท่า หรือการที่มีเด็กวัยเรียนชั้นประถมศึกษากว่า 200,000 คนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน และเนื่องจากพ่อแม่ของพวกเขาต้องเดินทางไปหางานทำในภูมิภาคอื่นๆ เด็กๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมากจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายหรือญาติๆ