การจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการศึกษาในปัจจุบัน โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน มีการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีต่างๆ มากมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งผลที่ได้จากการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้นอกจากเกิดประโยชน์อันมากมายแล้วยังมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนอย่างยิ่งทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีต่าง ๆ ดำเนินไปพร้อมๆ กับความเสื่อมโทรมของสังคม ซึ่งเหล่านี้ทำให้คนเริ่มมีการกลับมาสู่ธรรมชาติ ท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน การส่งเสริมให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสม พอเพียงกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ชุมชน เป็น สังคมขนาดกลางที่เชื่อมโยงสังคมขนาดเล็ก คือบ้าน โรงเรียน กับสังคมใหญ่ คือประเทศชาติ และโลก ดังนั้นในการพัฒนาคนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้น ชุมชนหรือท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตามสภาพจริงที่เป็นอยู่ในสังคมนั้น ๆ จะช่วยให้คนสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างแท้จริงสามารถดำรงอยู่ซึ่งวัฒนธรรม และวิถีชีวิตตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกัน สามารถนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นนั้น ๆ มาใช้ได้อย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ตระหนักถึงคุณค่า และรู้จักวิธีการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมรวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ ให้คงอยู่กับชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้ที่ได้สั่งสมจากประสบการณ์ของคนในชุมชนมาเป็นเวลานาน มีการเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่งด้วยวิธีการง่าย และเหมาะสมตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น มีความหลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องตรงกับสภาพสังคมปัจจุบัน ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผลกระทบน้อยและ มีคุณค่าทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง
การศึกษาของไทยในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและวิถีการดำรงชีวิต ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการจัดการศึกษาของชาติ เพราะโรงเรียนถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ดังนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งจึงได้มีการนำเอาวิถีชีวิต หรือทรัพยากรที่มีในชุมชน มาใช้ในการจัดเรียนการสอน มีการนำคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่น สอดคล้องและเหมาะสมในการพัฒนาคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลการจัดการศึกษาที่มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและผู้รู้ในชุมชนมาร่วมกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน จัดทำนโยบาย กำหนดวิสัยทัศน์ และหลักสูตรสถานศึกษา ว่าผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง มีเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยมีบุคลากร ทรัพยากรและภูมิปัญญาที่สืบทดมาในท้องถิ่นเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีค่า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์ และรู้ถึงคุณค่าในการศึกษา คิดเป็น ทำเป็น สามารถประยุกต์สิ่งที่ได้จากการเรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในชุมชนได้ เกิดการเรียนรู้ในทุก ๆ ที่ และเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต