โรคกระเพาะ เดี๋ยวนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เมื่อรู้ตัวว่าเป็น ควรรีบไปพบแพทย์ให้รักษาอาการแต่เนิ่น ๆ กินยาตามที่แพทย์สั่งก็จะหายได้ภายในเวลา 2-4 สัปดาห์ มาทำความรู้จัก โรคกระเพาะ กันเถอะ
โรคกระเพาะ (Peptic Ulcer) มีชื่อเต็มว่า โรคแผลในกระเพาะอาหาร จะมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด หรือจุกแน่น ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนกินอาหาร หรือหลังกินอาหารใหม่ ๆ และเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าวตอนเช้ามืด หรือก่อนนอนตอนดึก ๆ ก็ปวดท้องโรคกระเพาะได้เช่นกัน โรคกระเพาะ จึงมักเกิดกับกลุ่มคนวัยทำงาน คนที่ขาดวินัยในการกินอาหารไม่ตรงเวลา
อาการปวดท้องนั้นมาจากภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมาก กรดนี้จะไปสร้างความระคายเคืองกระเพาะ จนทำให้เกิดแผลที่ผนังของกระเพาะอาหาร หรือที่ลำไส้เล็กตอนบน อาจเป็น ๆ หาย ๆ มักจะปวดราว 15 – 30 นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร อาการปวดท้องนี้จะบรรเทาลงถ้าได้กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนม หรือกินยาลดกรด
คนที่เป็นโรคกระเพาะถ้าไม่ได้รับการรักษา ดูแลตนเองให้ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร (อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระดำ) กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ (ปวดท้องอย่างรุนแรง หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ) กระเพาะลำไส้ตีบตัน (ปวดท้องรุนแรง และอาเจียนทุกครั้งหลังกินอาหาร)
หลักโภชนาบำบัดในการดูแลตัวเอง คือ กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่อย่างสมดุล เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน เพื่อช่วยรักษาเนื้อเยื่อแผลในกระเพาะให้หายเร็วขึ้น และเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการหลั่งของกรดมากเกินไป
ข้อควรระวังเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
ควรปฏิบัติตัวดังนี้ รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรซื้อยามากินเอง ไม่ใช้ยาลดกรดมากเกินควร เนื่องจากกรดในกระเพาะจะช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร เช่นเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 12 ลดการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ แบคทีเรียในอาหาร เมื่อตกถึงกระเพาะจะถูกกรดทำลาย จึงช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ก่อสารเกิดมะเร็ง การใช้ยาลดกรดมากจึงไม่ดีต่อระบบย่อย
และสำคัญที่สุดไม่พกพาความเครียดกลับมาบ้านด้วย แม้ความเครียดจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิด โรคกระเพาะ แต่ถ้ามีความเครียดจะทำให้หายช้า และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ช้าโรคกระเพาะก็จะหายไปได้เองค่ะ